สารบัญ
หากพูดถึง “ผักพื้นบ้าน” หลายคนคงนึกถึงต้นตำลึงที่ขึ้นตามรั้วบ้าน หรือพวกผักสวนครัวที่ปลูกเอาไว้กินเองภายในบ้าน แต่รู้หรือไม่ว่าผักพื้นบ้านยังมีอีกมากมายหลายชนิดซึ่งสามารถนำไปประกอบอาหารให้รสชาติถูกปาก และเต็มไปด้วยประโยชน์มากมาย ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกนอกจากผักใบเขียวทั่วไปที่เราคุ้นชินกัน วันนี้ ขออาสาพาทุกคนไปทำความรู้กับผักพื้นบ้านประจำท้องถิ่นไทย ที่ดีต่อใจ และมากคุณประโยชน์
ผักพื้นบ้านคืออะไร ?
พืชพรรณ ที่สามารถพบเจอได้ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยมีปัจจัยทั้งด้านภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ช่วยในการเจริญเติบโตของผักพื้นบ้านแต่ละชนิด เช่น สวน ไร่ นา หรือสถานที่ใกล้ตัวอย่างตำลึงริมรั้วบ้าน หรือกะเพราในสวน โดยผักพื้นบ้านจะมีลักษณะและชื่อเรียกที่ต่างกันขึ้นอยู่กับท้องถิ่นนั้น ๆ
ประโยชน์ของผักพื้นบ้าน
ได้ประโยชน์จากสารอาหารสำคัญที่มีอยู่ในผักพื้นบ้าน เช่น แร่ธาตุและวิตามิน
มีกากใยอาหาร ซึ่งจะดูดซับไขมัน ทำให้ไขมันดูดซึมเข้าร่างกายน้อยลง ลดระดับไขมันในเลือด
ช่วยในการขับถ่าย อาหารเคลื่อนที่ในลำไส้ได้ดีขึ้นทำให้ท้องไม่ผูก
บางชนิดมีสารอาหารเฉพาะ เช่น “ใบชะพลู” มีแคลเซียมสูง, “ยอดแค” มีเบตาแคโรทีนเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกาย, “ผักกูด” ให้ธาตุเหล็กที่จำเป็นกับร่างกาย และ “ยอดสะเดา” มีวิตามินซีในในระดับที่สูง
หมายเหตุ: นอกจากนี้การกิน “ผักพื้นบ้าน” ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อผัก รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการนำเข้าผักจากต่างประเทศอีกด้วย
ผักพื้นบ้านประจำท้องถิ่น
ผักพื้นบ้านในประเทศไทยมีอยู่มากมายหลายชนิดโดยกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ โดยในแต่ละที่จะพบผักพื้นบ้านต่างชนิดและจำนวนมากน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศเป็นปัจจัย วันนี้ Wongnai จะพาทัวร์ไปพบกับ “ผักพื้นบ้าน” ทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย
ภาคเหนือ
ผักพื้นบ้านที่พบได้ในภาคเหนือ:
ส้มป่อย, มะเขือส้ม , ผักปลัง, ผักแค, มะระขี้นก, ผักกูด, แค, นางแลว, ผักหวานบ้าน, ผักเซียงดา, เห็ดต่าง ๆ
เมนูจากผักพื้นบ้านในภาคเหนือ:
น้ำพริกอ่อง (มะเขือส้ม), แกงโฮะ (หน่อไม้, กะหล่ำ,ใบส้มป่อย, ผักปลัง), ผัดน้ำมันต่าง ๆ (ผักผำ, ผักกูด, ผักหวาน), แกงคั่วแค (ผักหวาน, ดอกงิ้ว), ยำผักเฮือน (ผักเฮือน, ข่า), ผักกินเคียงน้ำพริก (ผักแค, มะระขี้นก, ผักกูด, ผักหวานบ้าน)
ภาคกลาง
ผักพื้นบ้านที่พบได้ในภาคกลาง:
ผักโขม, มะรุม, ชะพลู, ใบบัวบก, แตงกวา, ดอกขจร, มะเขือม่วง
เมนูจากผักพื้นบ้านในภาคกลาง:
แกงคั่วหอยใบชะพลู (ใบชะพลู), แกงส้มมะรุมกุ้งสด (มะรุม), เมี่ยงคำ (ใบทองหลาง, ใบชะพลู), แกงเลียง (ฟักทอง, บวบ, น้ำเต้า), แกงสายบัว (สายบัว), ผัดยอดผักต่าง ๆ (ผักบุ้ง, ยอดฝักแม้ว, ดอกโสน, ผักกระเฉด), ผักกินเคียงน้ำพริก (ผักตับเต่า, กระเจี๊ยบมอญ, ดอกโสน, ดอกขจร, ยอดตำลึง, ถั่วฝักยาว)
ภาคอีสาน
ผักพื้นบ้านที่พบได้ในภาคอีสาน:
ผักแขยง, ถั่วพู, ผักชีลาว, แมงลัก, ผักติ้ว, ใบบัวบก, ใบมะกอก
เมนูจากผักพื้นบ้านในภาคอีสาน:
แกงอ่อม (แมงลัก, ตะไคร้, พริก, ผักชีลาว), ลาบ, ก้อย, น้ำตก (หอมแดง, ผักชีใบเลื่อย, พริกแดง), ผักเสี้ยนดอง (ผักเสี้ยน), แกงขี้เหล็ก (ใบขี้เหล็ก), ส้มตำ (มะละกอ, ถั่วฝักยาว, มะเขือเทศ), แกงหน่อไม้ (หน่อไม้, ใบย่านาง), สะเดาน้ำปลาหวาน (สะเดา, หอมแดง), ผักกินเคียงน้ำพริก (ผักกระโดน, ผักแขยง, ชะอม, หน่อไม้, ผักติ้ว)
ภาคใต้
ผักพื้นบ้านที่พบได้ในภาคใต้:
ขี้หมิ้น (ขมิ้นชัน), ลูกตอ (สะตอ), ใบเหลียง, ถั่วหริ่ง
เมนูจากผักพื้นบ้านในภาคใต้:
ใบเหลียงต้มกะทิกุ้งสด (ใบเหลียง, ตะไคร้), แกงเหลือง (ขมิ้น), ผัดใบเหลียง (ใบเหลียง), ข้าวยำน้ำบูดู (ตะไคร้, ถั่วหรั่ง), ผัดผักน้ำทรงเครื่อง (ผักน้ำ), ผักสะตอผัดกะปิ (สะตอ), ผักกินเคียงน้ำพริก (ฝักสะตอ, ใบเหลียง, แตงกวา, ขมิ้นขาว)
ได้รู้จักกับ “ผักพื้นบ้าน” ประจำถิ่นขอแต่ละภาคของประเทศไทยไปแล้ว บอกได้เลยว่าแม้จะอยู่ต่างพื้นที่ต่างสายพันธุ์กัน แต่สิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกันคือผักพื้นบ้านเหล่านี้แฝงไปด้วยคุณประโยชน์มากมายที่ดีต่อสุขภาพและควรค่าอย่างยิ่งกับการไปอยู่บ้านโต๊ะอาหารในทุก ๆ มื้อของคนรักสุขภาพทุกคน และเพื่อการกินที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการและได้รับสารอาหารครบถ้วน สามารถกินคู่กับข้าวสวยร้อน ๆ และเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ในสัดส่วน 2 : 1 : 1 โดยกินผักให้ได้ครึ่งหนึ่งของจาน เลือกกินผักให้หลากหลายเข้าไว้ แล้วจะพบกับคุณค่ามหาศาล ด้วยความปรารถนาดีจาก สสส. ส่งเสริมให้คนหันมาบริโภคผักพื้นบ้าน เพื่อสุขภาพที่ดีต่อร่างกาย
อ้างอิงข้อมูลจาก
บทความน่าสนใจ