เก็บผักยังไงให้สดนานแค่ 6 ขั้นตอน

by | Apr 7, 2023 | ความรู้ทั่วไป

เก็บผักยังไงให้สดนานแค่ 6 ขั้นตอน

ผัก

เชื่อว่าช่วงโควิดที่ผ่านมา คงทำให้หลาย ๆ คนมักนิยมซื้ออาหารและผักสดเข้าครัวกันเป็นจำนวนมาก เพื่อตุนเอาไว้ในตู้เย็นสำหรับเตรียมประกอบอาหารรับประทานเอง โดยไม่ต้องออกไปซื้อจากนอกบ้านบ่อย ๆ ซึ่งในบทความนี้เราเลยอยากนำเคล็บลับในครัวที่คุณควรรู้ อย่างวิธีเก็บผักในตู้เย็นยังไงให้อยู่ได้นาน แถมยังคงรสชาติหรือกลิ่นหอมเหมือนพึ่งซื้อใหม่

1. ผักสลัด

ผักสลัดใบอ่อนบอบบาง ช้ำง่าย เมื่อซื้อมาแล้วควรล้างให้สะอาด แยกเป็นใบๆ พักไว้บนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำ หรือใช้ “ตะกร้าสลัดน้ำผัก” หน้าตาเหมือนอ่างพลาสติกมีตะกร้าข้างใน ฝาปิดหมุนได้ ทำให้เราสลัดน้ำออกจากผักได้จนแห้งสนิท เมื่อผักแห้งดีแล้วใส่ถุงพลาสติกสะอาดๆ ม้วนให้แน่น (เพื่อไม่ให้มีอากาศเข้า) ใส่กล่องพลาสติกที่มีฝาปิด แช่เย็นไว้

2. ผักอื่นๆ

ผักสวนครัวอย่างผักชี ต้นหอม ขึ้นช่าย ฯลฯ ล้างดินที่มักเปื้อนมากับรากออกให้สะอาด เด็ดใบที่เหี่ยว เหลืองออก เพราะใบพวกนี้จะพาให้ใบอื่นๆ เน่าเสียได้ง่าย พักให้สะเด็ดน้ำ หรือใช้ตะกร้าสลัดน้ำผัก ช่วยให้น้ำแห้งเร็วก็ได้ ห่อด้วยกระดาษทิชชู่แผ่นใหญ่ หรือกระดาษทิชชู่เอนกประสงค์ ใส่กล่องปิดฝา และแช่เย็น

3. เห็ด

เป็นผักที่เน่าเร็วที่สุด แต่ก็มีเคล็ดลับที่ทำให้ยืดอายุได้นาน เช่น เห็ดชิเมจิ หรือเห็ดเข็มทองที่มาในห่อพลาสติกอยู่แล้ว ให้เก็บในช่องแช่ผัก ส่วนเห็ดฟางที่เน่าง่าย ให้ล้าง ผ่าครึ่ง และลวกในน้ำใส่เกลือเล็กน้อย พักให้เย็นสนิท เก็บทั้งเห็ดและน้ำลวกใส่กล่องแช่เย็นไว้ได้หลายวัน

4. มะเขือเทศ

ล้างทีละลูก เช็ดให้แห้งสนิท ห่อด้วยทิชชู่เอนกประสงค์ ใส่กล่อง หรือถุง ปิดให้แน่น และแช่เย็น

5. อะโวคาโด

ถ้าเปลือกยังมีสีเขียว และขั้วยังติดแน่น ให้เก็บไว้นอกตู้เย็น จนเปลือกเป็นสีน้ำตาล ขั้วหลุดออกได้ง่าย บีบเบาๆ จะนิ่มเล็กน้อย แปลว่าสุกพร้อมกิน หากสุกแล้วกินไม่ทันให้ใส่ตู้เย็นทั้งลูก หรือใช้วิธีผ่าอะโวคาโด ตักเอาแต่เนื้อ หั่นเป็นชิ้นใส่กล่องพลาสติก แล้วแช่แข็ง เหมาะเก็บไว้ทำสมูทตี้ หรือใช้ทำอะโวคาโดบดก็ได้

6. ผลไม้

เก็บไว้ทั้งลูกรับรองว่าได้เน่าคาตู้เย็นแน่นอน เพราะไม่มีใครหยิบออกมากิน ทางที่ดีควรล้าง ปอกเปลือกและหั่นชิ้น ใส่กล่องพร้อมกิน รับรองว่าหมดอย่างรวดเร็ว ถ้ากินไม่ทัน ให้ย้ายไปใส่ตู้เย็นช่องแช่แข็ง นำผลไม้นี้ออกมาปั่นกับโยเกิร์ต ทำเป็นสมูทตี้ อร่อยโดยไม่ได้ใส่น้ำแข็งเลย

ผักแช่แข็ง

สิ่งที่ควรทำก่อนเก็บผักสดเข้าตู้เย็น

ก่อนที่จะไปทราบถึงวิธีเก็บผักในตู้เย็นยังไงให้อยู่ได้นานนั้น สิ่งสำคัญที่คุณควรทำก่อนเก็บผักสดเข้าตู้เย็นก็เป็นสิ่งที่คุณควรรู้ไม่แพ้กัน โดยจะมีอะไรบ้างเรามาดูกันเลยค่ะ

1. แยกเก็บผักแต่ละชนิดเสียก่อน

สิ่งแรกที่ควรทำก่อนจะเก็บผักสดเข้าตู้เย็น ก็คือการแยกผักสดแต่ละชนิดออกจากกันแล้วใส่กล่องสุญญากาศ ที่มีฝาล็อกปิดสนิท สาเหตุก็เป็นเพราะว่าในผักบางชนิดจะปล่อยก๊าซเอทิลีนออกมาทำให้ผักที่อยู่รอบข้างเน่าเสียและเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ดังนั้น ถ้าอยากเก็บผักสดได้นานก็ควรหลีกเลี่ยงการเก็บผักรวมกัน โดยจะขอแบ่งผักออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

กลุ่มที่ 1 : ผักที่เสียง่าย

เช่น ผักชี ผักกาดหอม ผักบุ้ง ถั่วงอก ถั่วฝักยาว เห็ด เป็นต้น โดยผักที่อยู่ในกลุ่มนี้จะสามารถเก็บรักษาไว้ได้ไม่นาน จึงควรรับประทานให้หมดโดยเร็วหลังจากที่ซื้อมาแล้ว

กลุ่มที่ 2 : ผักที่เก็บได้ในเวลาจำกัด

เช่น ผักกาด ผักคะน้า มะเขือเทศ เป็นต้น โดยผักกลุ่มนี้จะไม่เสียง่ายเท่าผักในกลุ่มที่ 1 แต่ก็ควรที่จะรับประทานหรือว่านำไปประกอบอาหารภายในเวลาที่กำหนด

กลุ่มที่ 3 : ผักที่เก็บไว้ได้นานกว่าผักชนิดอื่น ๆ

เช่น มัน ฟัก ฟักทอง เผือก แฟง เป็นต้น แต่ถึงแม้ว่าผักกลุ่มที่ 3 นี้จะเก็บได้นานแต่ก็เสียได้เช่นกัน ถึงแม้จะเก็บในตู้เย็น

2. ไม่ควรล้างผักก่อนเก็บ แต่ควรล้างก่อนทำอาหาร

การเก็บผักนั้นไม่ควรที่จะล้างก่อนเก็บ ถ้าหากว่ายังไม่ได้นำผักเหล่านี้มาปรุงอาหาร เช่น ถั่วลันเตา ถั่วแขก โดยผักประเภทนี้ควรแยกเก็บใส่ถุงแล้วเก็บไว้ในอุณหภูมิประมาณ 7 องศาเซลเซียส ทำให้ช่วยคงความสดได้นานขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีผักหัว เช่น แครอท เผือก บรีทรูท ให้ทำการตัดใบออกให้หมดเพื่อช่วยให้คงรสชาติความหวานในหัวผัก และยังมีผักเปลือกหนา เช่น ฟัก ฟักทอง แฟง เผือก มันฝรั่ง ก็สามารถเก็บได้โดยไม่ต้องล้างน้ำเช่นกัน แต่ให้เก็บไว้ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้ และมีอุณหภูมิที่ 13 ถึง 18 องศาเซลเซียส จะช่วยถนอมผักให้สามารถรับประทานได้ยาวนานขึ้น

3. ถ้ามีการล้างผักต้องทำให้แห้งก่อนนำไปเก็บ

หากต้องการเก็บผักประเภท ผักชี ต้นหอม เราไม่ควรที่จะแช่ผักเหล่านี้ลงไปในน้ำแบบทั้งต้น เนื่องจากจะส่งผลให้ผักเกิดการอมน้ำ เมื่อเก็บไว้นาน ๆ จะทำให้ผักช้ำและเน่าได้ และนอกจากนี้ยังทำให้วิตามินที่อยู่ในผักละลายไปกับน้ำอีกด้วย

ดังนั้นวิธีเก็บผักที่ถูกต้อง คือ นำผักไปล้างให้สะอาดแล้วผึ่งให้แห้ง หรือนำผักไปสลัดน้ำออกให้หมาดที่สุดด้วยที่สลัดน้ำออกจากผัก ถ้าหากว่ามีใบไหนที่เน่าเสียให้เด็ด หรือตัดออกก่อนด้วย

วิธีเก็บผักให้สด

นอกจากนี้ หากคุณต้องการล้างผักก่อนเก็บเข้าตู้เย็น อีกสิ่งหนึ่งที่คุณควรให้ความสำคัญก็คือ การล้างผักให้ถูกต้องเพื่อลดสารเคมี และคงคุณค่าทางสารอาหารเอาไว้ โดยมีด้วยกัน 2 วิธี ดังนี้

วิธีที่ 1 : ล้างแบบปล่อยน้ำไหลผ่าน

สามารถทำได้ง่ายสุดๆ นั่นก็คือการปล่อยให้น้ำไหลผ่านผัก โดยให้เด็ดผักเป็นใบ ๆ แล้วใส่ตะแกรง หลังจากนั้นคลี่ผักแล้วล้างให้สะอาดเป็นเวลา 2 นาที ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดสารเคมีได้ร้อยละ 25-63 ขึ้นอยู่กับชนิดของผักแต่ละชนิด

วิธีที่ 2 : ล้างด้วยน้ำส้มสายชู หรือเบคกิ้งโซดา

สำหรับสูตรน้ำส้มสายชู แนะนำให้ใช้น้ำส้มสายชูที่มีกรดความเข้มข้นร้อยละ 5 ในปริมาณ 1 ถ้วยตวง ผสมกับน้ำเปล่า 10  ถ้วยตวง ในอัตราส่วน 1:10 นั่นเอง หลังจากนั้นก็นำผักไปแช่ในน้ำประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างน้ำสะอาดอีกทีหนึ่ง โดยวิธีนี้ช่วยลดสารเคมีในผักได้ร้อยละ 60-84 ขึ้นอยู่กับชนิดของผัก

อีกวิธีหนึ่งคือใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำอุ่นประมาณ 20 ลิตร แช่ผักนาน 15 นาที แล้วนำไปล้างน้ำสะอาดหลาย ๆ รอบ วิธีนี้จะสามารถช่วยลดสารตกค้างได้ร้อยละ 90-95 ขึ้นอยู่กับชนิดของผัก

ผ

บทความน่าสนใจ 7 เห็ดยอดนิยมในภาคเหนือ

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.gourmetandcuisine.com

https://www.maggi.co.th

https://www.micronware.co.th

You May Also Like…

ผักพื้นบ้านทั้ง 4 ภาค

ผักพื้นบ้านทั้ง 4 ภาค

สารบัญผักพื้นบ้านคืออะไร ?ประโยชน์ของผักพื้นบ้านผักพื้นบ้านประจำท้องถิ่นภาคเหนือภาคกลางภาคอีสานภาคใต้ หากพูดถึง...