เงินตราของอาณาจักรล้านนามีหลายประเภท อาทิ เงินเจียง (เงินขาคีม) และเงินท้อก ในส่วนของเงินท้อกนั้น สามารถแบ่งได้เป็นตามแหล่งผลิต อาทิ เงินท้อกลำปาง (เรียกอีกอย่างว่าเงินท้อกวงตีนม้า) เงินท้อกเชียงใหม่ เงินท้อกน่าน
เงินตราสมัยล้านนา
ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 บริเวณที่เป็นอาณาจักรล้านนามีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนเกษตรกรรมขนาดใหญ่ คือ ชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำปิงและชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำกก เช่น อาณาจักรหริภุญไชย อาณาจักรโยนกเชียงแสน เมืองละโว้ รวมไปถึงยูนนานในประเทศจีน โดยอาณาจักรที่เป็นอิสระทุกอาณาจักรนั้น นอกจากจะมีการปกครองเป็นของตนเองแล้วยังมีระบบเงินตราเป็นของตนเองด้วย เพื่อใช้ภายในอาณาจักรและใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนและดินแดนที่ห่างไกล ในพื้นที่บริเวณที่เป็นอาณาจักรล้านนาในปัจจุบันนั้นเดิมเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติลัวะหรือละว้าซึ่งมีการใช้โลหะมีค่า เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง และสำริดเป็นเงินตรา
เมื่อพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่และสถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้นได้สำเร็จในปี พ.ศ. 1839 ได้มีการใช้เงินตราในการค้าขายภายในอาณาจักรด้วย โดยอาณาจักรล้านนาได้กำหนดมาตรฐานระบบเงินตราของตนขึ้น ในช่วงแรกเป็นการใช้ก้อนเงินและก้อนโลหะต่าง ๆ ตัดแล้วชั่งน้ำหนักในการซื้อขายและชำระหนี้โดยควบคุมความบริสุทธิ์ของเงินตราตามกฎหมายมังรายศาสตร์ ขณะเดียวกันก็มีการใช้หอยเบี้ยเป็นเงินปลีกสำหรับใช้ซื้อข้าวปลาอาหารในชีวิตประจำวัน และเมื่ออาณาจักรแห่งนี้เจริญขึ้นในสมัยพญากือนา ล้านนาได้ผลิตเงินตราที่สำคัญขึ้นชนิดหนึ่ง คือ เงินเจียง ซึ่งถือเป็นเงินที่มีค่าสูงสุดในระบบเงินตราล้านนา หลังจากนั้นอาณาจักรล้านนาก็ใช้เงินตราที่เป็นเงินตราของแคว้นโยนกเชียงแสนเดิมทั้งหอยเบี้ย เงินท้อก เงินวงตีนม้า เงินหอยโข่ง และเงินปากหมู ร่วมกับกับเงินเจียงเรื่อยมาจนถึงสมัยที่ล้านนาตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า จึงมีเงินตราของพม่าที่พวกไทใหญ่นำเข้ามาใช้ปะปนอยู่หลายชนิดและมีสภาพเป็นเช่นนั้นตลอดระยะเวลา 200 กว่าปี
กระทั่งพม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษจึงมีเหรียญเงินรูปีอินเดียเข้ามาใช้เพิ่มในอาณาจักรล้านนาอีกและต่อมาเมื่อล้านนาได้ผนวกเข้ากับสยามเป็นมณฑลพายัพ เหรียญบาทและเหรียญสตางค์ของรัฐบาลสยามจึงสามารถขนส่งขึ้นไปยังหัวเมืองฝ่ายเหนือได้มากขึ้น หัวเมืองในมณฑลพายัพจึงได้เริ่มใช้เหรียญเงินของสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา
เงินเจียง
เงินเจียง เป็นเงินตราสำคัญและมีมูลค่าสูงที่สุดของอาณาจักรล้านนาทำจากเนื้อเงินเปอร์เซ็นสูงเงินเจียงแต่ละอันเมื่อนำมาตั้งทางขวางจะเห็นรอยบากเล็ก ๆ เเละปรากฏตรา 3 ตรา ได้เเก่ ตราตัวเลข บอกชนิดราคา ตราชื่อเมือง เเสดงถึงแหล่งผลิต และ ตราจักร เป็นสัญลักษณ์ของเจ้าเมืองลักษณะคล้ายจักรของพระจักรพรรดิที่ทรงมีจักรแก้วตามคัมภีร์ไตรภูมิคาถา เรียงตามลำดับตราทั้ง 2 ด้าน ดังนั้น เมื่อวางเงินเจียงลงให้ด้านหน้าหงายขึ้นมาแล้วย่อมสามารถมองเห็นตราทั้ง 3 ชนิดได้ง่ายไม่ว่าจะมองจากด้านของผู้จ่ายเงินหรือด้านผู้รับเงิน
เงินท้อกเชียงใหม่
เงินท้อกเชียงใหม่ ทำจากโลหะเงิน มีลักษณะกลม มักจะมีขอบงอโค้งขึ้นมาเล็กน้อยโดยรอบ ด้านล่างชนิดที่มีเนื้อเงินเป็นฐานนั้นมักแบนเรียบ ริมด้านหนึ่งมีรูขนาดใหญ่เป็นโพรงลึกเข้าไปตรงกับด้านบนที่นูนสูงขึ้นมาทำให้รู้สึกว่าเงินท้อกมีน้ำหนักและมูลค่าสูง ทำให้เงินท้อกคล้ายเปลือกหอยจึงเรียกกันว่า เงินหอย อีกทั้งยังเหมือนกับมูลดินขรุขระที่ปูขุดขึ้นมาจึงเรียกว่า เงินขวยปู มีเพียงเฉพาะเงินท้อกที่มีขนาดใหญ่จึงจะประทับตราไว้ที่ริมขอบด้านบนบริเวณที่มีขนาดกว้างที่สุดจำนวน 1 – 3 ตรา
เงินใบไม้ หรือ เงินเส้น
ทำด้วยสำริดชุบเงิน สัณฐานกลม นูนด้านหน้า ส่วนด้านหลังเป็นรอยบุ๋มลึกลงไปจึงมีลักษณะเหมือนเปลือกหอย ด้านที่นูนออกมานั้นมักจะมีลวดลายทั้งแบบเส้นเดียวผ่ากลางและแบบที่มีกิ่งแยกออกไปอีกหลายเส้นหรืออาจจะไม่มีลวดลายใด ๆ โดยที่เส้นนูนเหล่านี้มีลักษณะเหมือนลายด้านหลังของใบไม้จึงเรียกกันว่า เงินใบไม้ เงินเส้น หรือ เงินเปลือกหอย เงินเหล่านี้พบว่ามีการเจาะรูไว้ที่ริมขอบเพื่อประโยชน์ในการร้อยรวมเข้าด้วยกันเพื่อความสะดวกในการนับแยกขนาด เเยกชนิดราคาตามน้ำหนัก และสะดวกในการพกพา
เงินดอกไม้ หรือ เงินผักชี
เงินดอกไม้เป็นแผ่นเงินที่มีเนื้อเงินผสมอยู่สูงมาก มี 2 ชนิดทั้งแบบบางและแบบหนา ไม่มีรูปร่างแน่นอนแต่นิยมตัดให้เป็นวงกลมมีขนาดน้ำหนักต่าง ๆ กันขึ้นอยู่กับขนาดและความหนาของเนื้อเงิน ลักษณะที่สำคัญของเงินดอกไม้และเป็นที่มาของชื่อเงินตราชนิดนี้ ได้แก่ ลวดลายบนผิวหน้าที่เกิดจากการใช้หลอดไม้ขนาดยาวเป่าลมลงในเบ้าที่มีแผ่นเงินหลอมละลายอยู่ การเป่าลมลงไปนี้อาจเป่าเป็นแห่ง ๆ หมุนไปโดยรอบเบ้าหลอมทำให้เกิดลายขึ้นบนผิวหน้าคล้ายหยดน้ำที่ตกลงมาแตกกระจายอยู่บนพื้นแข็งโดยรอบหรือนายช่างทำเงินที่มีความชำนาญสามารถบังคับทิศทางของลมและความแรงของลมเป่าจะสามารถเป่าหมุนไปทางซ้ายหรือหมุนไปทางขวาก็ได้ การบังคับทิศทางของลมเป่าทำให้เกิดลายขึ้นอีกชนิดหนึ่งที่หมุนวนไปทางด้านซ้ายหรือทางด้านขวาเพียงด้านเดียวหรือปนกัน ลักษณะของการเป่าลมไม่ว่าจะเป็นแบบใดทำให้เกิดลายนี้ขึ้นมาเรียกว่า ลายดอกไม้ หรือ ลายผักชี
เงินวงตีนม้า
ทำด้วยโลหะเงินผสมมีลักษณะคล้ายเงินท้อกเชียงใหม่แต่มีผิวบางมากเป็นพิเศษ ที่ขอบปากล่างมีตรารูปม้าตอกประทับไว้เป็นเงินที่มีลักษณะคล้ายรอยตีนม้าจึงเรียกกันว่า เงินวงตีนม้า
เงินปากหมู
เงินปากหมูมีลักษณะคล้ายเงินหอยโข่งทำด้วยโลหะเงิน ด้านล่างมีช่องกลวงลึกเข้าไปช่องนี้มีลักษณะคล้ายช่องบริเวณปากหมู จึงเรียกกันว่า เงินปากหมู มีหลายขนาดและน้ำหนัก
เงินท้อกน่าน
เงินท้อกใช้เป็นเงินปลีกและเงินย่อย เงินท้อกเมืองน่านทำจากโลหะทองแดงชุบเงินและเคลือบด้วยทองตากูไว้เป็นที่สังเกต เงินท้อกปลีกเหล่านี้พบว่ามีอยู่ที่เมืองน่านเป็นอันมากเนื่องจากเมืองน่านเป็นเมืองที่มีภูเขาล้อมรอบสลับซับซ้อนเส้นทางเข้าเมืองลำบาก จึงมักไม่มีภัยจากศึกสงครามบ่อยครั้งเหมือนเมืองอื่น ๆ เช่น เชียงใหม่และลำพูน ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบและเป็นทางผ่านกองทัพทั้งฝ่ายพม่าและอยุธยา เมืองน่านจึงเป็นเมืองที่สงบและมีเงินท้อกปลีกเหลืออยู่มากที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงมักเรียกกันว่า ท้อกเมืองน่าน
อ้างอิงข้อมูลจาก