fbpx

ผ้าซิ่น คืออะไร

ผ้าซิ่น คืออะไร

ผ้าซิ่น

ซิ่น (คำเมือง: LN sinh.png คำเมือง: สิ้น; ลาว: ສິ້ນ) เป็นผ้านุ่งของผู้หญิง มีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ทั้งขนาด การนุ่ง และลวดลายบนผืนผ้า โดยมีการสวมใส่ในประเทศลาวและประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทย

ซิ่น

“ซิ่น” ของสตรีชาวยวนหรือล้านนา อันเป็นอัตลักษณ์ในแทบภาคเหนือของประเทศไทย ซิ่นในแต่ละท้องถิ่นนั้นมีความแตกต่างกัน บางจังหวัดจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นลวดลาย ลักษณะผ้า การย้อมสีฝ้าย ฯลฯ และในจังหวัดเชียงใหม่เองก็มีซิ่นหลากหลายรูปแบบ อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของช่างทอผ้าชาวล้านนาแต่โบราณ

หลักฐานเรื่องการแต่งกายและนุ่งซิ่นของชาวล้านนานั้นมีบันทึกค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ที่จะพอศึกษาได้จะเป็นศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ เช่นประติมากรรมรูปปูนปั้นเทวดารอบเจติยวิหาร วัดเจดีย์เจ็ดยอด ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายชนชั้นสูงในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งราชวงศ์มังราย หลักฐานที่เห็นปรากฏการแต่งกายของชาวล้านนาชัดเจนมากในยุคหลัง ๆ ไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมาคือภาพจิตรกรรมฝาหนัง นอกจากจะเห็นการแต่งกายแล้วยังเห็นสภาพวิถีชีวิตของชาวล้านนาอีกด้วย

สำหรับการแต่งกายท่อนบน สตรีเชียงใหม่ตามจารีตจะไม่สวมเสื้อ แต่มีผ้าสำหรับห่มหนึ่งผืน มักเป็นผ้าฝ้าย ฝ้าไหม หรือผ้าแพรจีน  จะนำมาห่มเฉวียงบ่าข้างใดข้างหนึ่งแล้วปล่อยชายผ้าให้ตกไปด้านหลัง เรียก “สะหว้ายแหล้ง” หรือ “เบี่ยงบ้าย” หากนำผ้าห่มมาพันรอบหน้าอกจะเรียกว่า “มัดนม” ส่วนทรงผมจะไว้ผมยาว บำรุงผมด้วยน้ำมันมะพร้าว รวบแล้วเกล้ามวย และมักประดับมวยผมด้วยดอกไม้ บ้างจะเสียบหรือเหน็บดอกไม้ชนิดต่าง ๆ หรือทำเป็นช่อ เป็นพวง พันรอบมวยผม หรือประดับปิ่นก็มี

สำหรับการแต่งกายท่อนล่าง จะนุ่ง “ซิ่น” ที่นิยมนุ่งมากที่สุดคือซิ่นตา (หรือซิ่นก่าน) และซิ่นตีนจก

ซิ่นแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

คือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น แล้วจึงนำมาประกอบเป็นซิ่น มีชื่อเรียกตามลักาณะการเย็บต่อกันแบบนี้ว่า “ซิ่นต่อตีนต่อแอว”

  • หัวซิ่น คือส่วนที่อยู่ด้านบนสุด มักเป็นผ้าสองชิ้นมาเย็บต่อกัน นิยมสีแดงหรือสีน้ำตาล และสีขาว หรืออาจเป็นผ้าสีแดงหรือสีดำเพียงอย่างเดียว หัวซิ่นมักทำจากผ้าฝ้ายเนื่องจากเป็นส่วนที่ต้องสัมผัสร่างกาย ผ้าฝ้ายจะช่วยลดการระคายเคือง และเมื่อทบผ้าหรือมัดผ้าที่เอวแล้วจะไม่หลุดง่าย
  • ตัวซิ่น คือส่วนกลางของซิ่น นิยมทำลวดลายเป็นลายทางขวาง เรียกว่า “ลายตา” สลับสีเข้มสลับอ่อนหรือตามความต้องการหรือความชำนาญของช่างทอผ้า มีหลากสีสัน แต่ที่นิยมมากที่สุดคือสีเหลือง
  • ตีนซิ่น คือส่วนปลายของซิ่น เป็นส่วนที่จำแนกความแตกต่างระหว่าง ซิ่นตากับซิ่นตีนจก หากเป็นซิ่นตาจะเป็นผ้าทอสีแดงเข้ม สีดำ หรือสีน้ำตาล หากเป็นซิ่นตีนจก จะทอผ้าด้วยเทคนิคจกสลับสีเส้นไหม ไหมเงิน หรือไหมทองคำเป็นลวดลายอย่างวิจิตรงดงาม
ผ้าซิ่นคือ

สตรีสูงศักดิ์เชียงใหม่จะนุ่งซิ่นที่ใช้วัสดุเป็นเส้นไหมเงินหรือไหมทองมาเป็นส่วนประกอบทอแทรกกับผ้า หรืออาจใช้ผ้าชนิดอื่นที่นำเข้าจากต่างประเทศเช่น ผ้าแพรจากจีน ผ้ายกทองจากอินเดีย

ซิ่นตีนจกมีลวดลายที่โดดเด่นคือ ลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดกันเป็นลายขนาดใหญ่ เรียกว่า “ลายโคม” และมีลายเล็ก ๆ ด้านข้างอีก 2 หรือ 4 แถว และส่วนด้านล่างของตีนซิ่น บริเวณรอยต่อของผ้าสีแดงและสีดำ จะทำลายเล็ก ๆ ตกแต่งลวดลายเป็นเส้นห้อยลงไปเรียกว่า “หางสะเปา” โดยซิ่นตีนจกที่พบในเชียงใหม่ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มคือ

  • ตีนจกเจ้านาย นิยมใช้ผ้าไหมหรือผ้าฝ้าย จกด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง หรือดิ้นปั่นควั่นกับเส้นด้ายกลม ลวดลายละเอียด ปราณีต เป็นซิ่นในราชสำนักหรือคุ้มหลวง นิยมสวมเฉพาะสตรีชนชั้นสูง
  • ตีนจกสันป่าตอง นิยมจกด้วยดิ้นควั่นฝ้าย ใช้เส้นฝ้ายหลายเส้นทอ ลวดลายจกจะห่างกว่าตีนจกเจ้านาย นิยมสีเข้มค่อนข้างขรึม เน้นสีจากธรรมชาติ
  • ตีนจกจอมทอง นิยมใช้ผ้าฝ้ายเส้นเล็กหลากหลายสีทอจก นิยมสีเหลือง จกลายห่างจนเห็นพื้นผ้าสีดำ ลวดลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดจะเพรียวผอม ต่างจากตีนจกสันป่าตองที่จะป้อมกว่า
  • ตีนจกแม่แจ่ม ตีนจกแบบแม่แจ่มนิยมใช้ผ้าฝ้ายเส้นใหญ่ สีสันสดใส ลวดลายจะผอมเพียวกว่าตีนจกแบบจอมทอง บางผืจะจกด้วยรูปนกหรือลายขอกูด และมีจุดเด่นตรงหางสะเปาเป็นสีดำสลับขาว ส่วนตีนจกแบบอื่นจะนิยมสีดำ
  • ตีนจกฮอดและดอยเต่า นิยมจกด้วยผ้าฝ้ายเส้นใหญ่ สีสันสดใส ลวดลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดทรงป้อม ๆ แต่ขนาดจะใหญ่กว่าแบบอื่น และช่วงจกก็มีขนาดกว้างกว่าแบบอื่นเช่นกัน

   คำว่า “จก” เป็นคำพื้นเมืองภาคเหนือ หมายถึง การล้วง เพราะในการทอผ้าชนิดนี้จะมีลักษณะการทอลวดลายบนผืนผ้าโดยใช้ขนเม่น หรือไม้แหลมจกหรือล้วงเส้นด้ายสีต่างๆ ขึ้นบนและลงล่าง ให้เป็นลวดลายตามต้องการ ผ้าที่ทอจึงมีชื่อว่า “ผ้าจก” เมื่อนำไปต่อเป็นเชิงผ้าถุงจะเรียกว่า “ซิ่นตีนจก”

          ผ้าซิ่นตีนจกเมืองลอง เป็นงานฝีมือที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ส่วนใหญ่ออกแบบจัดวางลวดลายอย่างอิสระ เช่น ลายหลักที่อาจเป็นได้ทั้งลายหลักและลายประกอบ ส่วนลายประกอบก็อาจเป็นลายหลักได้ ลวดลายผ้าซิ่นตีนจกเมืองลอง มีการกำหนดลวดลายไว้คือ มีลายหลักและลายประกอบ

เมืองลองมีชื่อเสียงด้านความสุดยอดของผ้าซิ่นตีนจก ที่มีความงดงามมายาวนานกว่า 200 ปี ซึ่งในอดีตเมืองลองเป็นเมืองของชาวไทยวนหรือชาวไทยโยนก ชาวไทยวนมีศิลปะการทอผ้าในแบบของตนเอง ผ้าตีนจกเมืองลอง เป็นงานฝีมือที่มีความประณีตสวยงามและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ผู้หญิงไทยวนนิยมแต่งกายด้วยผ้าซิ่นทอชนิดต่างๆ โดยผ้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นก็คือ ผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งในอดีตนั้นจะทอขึ้นเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษเท่านั้น

          ผ้าจกเมืองลอง เป็นผ้าทอที่มีลวดลายและสีที่งดงาม ซึ่งในอดีตนั้นส่วนใหญ่เป็นการทอเพื่อนำมาต่อกับผ้าถุงหรือที่ชาวบ้านภาคเหนือ เรียกว่า “ซิ่น” ทำเป็นเชิงผ้าถุงหรือตีนซิ่น ผ้าซิ่นที่ต่อเชิงด้วยผ้าทอตีนจก มีชื่อเรียกว่า “ซิ่นตีนจก” ทำให้ผ้าซิ่น มีความสวยงามแสดงถึงฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้สวมใส่

           “ตีนจก” เป็นผ้าทอมือของชาวบ้านที่ทอขึ้น เพื่อนำไปต่อเชิงผ้าถุง ทำให้ผ้าถุงหรือที่ชาวภาคเหนือเรียกว่า “ซิ่น” สวยงามมีเอกลักษณ์ขึ้น

          คำว่า “ตีนจก” เป็นการรวมสองคำเข้าด้วยกัน คือคำว่า  “ตีน”  และคำว่า “จก”

          คำว่า “ตีน” มาจาก ตีนซิ่น  หมายถึง เชิงของผ้าถุง

ลายผ้าซิ่น

ผ้าซิ่น

1. ลายหลัก

       ลายดอกของผ้าจกเมืองลองนั้นจะมีลายที่เป็นลวดลายโบราณอยู่ 12 ลาย คือ ลายนกคู่กินน้ำ ร่วมต้น ลายสำเภาลอยน้ำ ลายนกแยงเงา (นกส่องกระจก) ลายขามดแดง ลายขากำปุ้งลายขอไล่ ลายหม่าขนัด (สับปะรด) ลายจันแปดกลีบ ลายดอกจัน ลายขอดาว ลายขอผักกูด และลายดอกขอ

          ลักษณะลวดลายหลักที่เป็นลายต่อเนื่อง

       ลายต่อเนื่องของผ้าจกเมืองลองนั้น มีลายที่เป็นลายโบราณอยู่ 7 ลาย คือ ลายใบผักแว่น ลายแมงโป้งเล็น ลายโคมและช่อน้อยตุงชัย ลายขอน้ำคุ จันแปดกลีบ ลายเครือกาบหมวก ลายโก้งเก้งซ้อนนก และลายพุ่มดอกนกกินน้ำร่วมต้น

 

2. ลายประกอบ

       ลวดลายประกอบเป็นลายขนาดเล็ก ๆ หรือลายย่อยอื่น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผ้าตีนจกมีความสมบูรณ์ มีอยู่หลายลาย ซึ่งสามารถจำแนกตามลักษณะของลวดลาย ได้ 6 ประเภท คือ

       – ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากพืช

       – ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากสัตว์

       – ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากรูปทรงเรขาคณิต

       – ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากการประยุกต์

       – ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากสัตว์ผสมรูปแบบจากรูปทรงเรขาคณิต

       – ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากสัตว์ผสมรูปแบบจากการประยุกต์

       โดยลายประกอบทั้ง 6 ประเภทนี้ มีอยู่มากมาย เพราะได้ถูกดัดแปลงและประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่อยู่เรื่อย ๆ เช่น ลายกาบหมาก ลายหางสะเปาต้นสน ลายสร้อยพร้าว ลายเม็ดแมงลัก ลายบัวคว่ำ บัวหงาย ลายดอกพิกุลจัน ลายหางสะเปานก ลายนกคุ้ม ลายขามด ลายต่อมเครือลายหางสะเปาดอกต่อม ลายฟันปลา ลายขอไล่ ลายเครือขอ ลายมะลิเลื้อย ลายเถาไม้เลื้อย ลายผีเสื้อ เป็นต้น

ผ้าซิ่นเป็นยังไง

You May Also Like…

วิธีทำข้าวกั้นจิ้น

วิธีทำข้าวกั้นจิ้น

วิธีทำ ข้าวกั้นจิ้นข้าวกั๊นจิ๊น ข้าวเงี้ยว หรือ จิ๊นส้มเงี้ยว เป็นอาหารไทยภาคเหนือ...

ประเพณีของภาคเหนือ

ประเพณีของภาคเหนือ

ประเพณีของภาคเหนือเดิมวัฒนธรรมล้านนา มีศูนย์กลางที่เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์จังหวัดเชียงใหม่...

นิทานพื้นบ้าน ล้านนา

นิทานพื้นบ้าน ล้านนา

นิทานพื้นบ้านนิทานพื้นบ้านเป็นนิทานที่มีการเล่าขาน ต่อๆกันมาตั้งแต่ในอดีต...

0 Comments