วิถีชีวิตล้านนา
วิถีล้านนา คือการเล่าขานถึงพื้นฐานของชาวล้านนาและกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาวที่มีวัฒนธรรมร่วมกันทั้งด้านภาษา ประเพณี การกินอยู่ ความเชื่อ รวมทั้งความคิด ทำให้เห็นบุคลิกของคนล้านนาที่มองโลกภายนอกอย่างเงียบๆ ด้วยวิสัยทัศน์ส่วนตัว
วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวล้านนา
คนไทยในอาณาจักรล้านนามีชีวิตและความเป็นอยู่โดยการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา หุบเขา มีพื้นที่ราบจำนวนน้อย คือ ประมาณ1/4 ของพื้นที่ทั้งหมด ชาวบ้านทำนาแบบนาทดน้ำ พื้นที่สูงปลูกข้าวไร่ พื้นที่ที่ราบในแอ่งเขาอุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าว และพืชอื่น ๆ ได้ดี คือ พื้นที่ราบแอ่งเชียงใหม่ ลำพูน และแอ่งเชียงราย ส่วนลำปาง แพร่ น่าน ผลิตข้าวได้น้อย ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบผลิตเพื่อให้พออยู่พอกิน การติดต่อค้าขายระหว่างกันก็จะเป็นประเภทวัวต่าง(เกวียน) สินค้ามีของป่า เกลือ ผ้า อัญมณี เป็นต้น ส่วนการค้าขายในหมู่บ้านก็จะมี “กาดมั่ว” ใครมีของอะไรก็นำมาวางขายได้
คนไทยภาคเหนือนิยมปลูกบ้านอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่บ้าน หากพื้นที่ใดอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำนา มีแม่น้ำไหลผ่าน ก็จะมีหมู่บ้านตั้งเป็นระยะ ๆ เรื่อยไปตามแม่น้ำ ลักษณะบ้านจะเป็นบ้านไม้ยกสูง มีใต้ถุนโล่ง เป็นที่เก็บของเครื่องมือทำเกษตร และเป็นที่ทำงานหรือพักผ่อนยามว่างได้ด้วย บ้านของชาวเหนือนิยมมุงกระเบื้องหรือชาวบ้านเรียกว่าดินขอ หรือบางครั้งก็มุงด้วยแผ่นไม้สักซึ่งทำเป็นแผ่นเล็ก ๆ แต่โตกว่าแผ่นกระเบื้อง แผ่นไม้สักนี้จะทนแดดทนฝน ถ้าคัดเลือกไม้อย่างดีจะอยู่ได้เกิน 50 ปีขึ้นไปเลยทีเดียว
ถัดจากบ้านก็จะเป็นยุ้งข้าวขนาดใหญ่เล็กตามฐานะ นอกจากนั้นก็จะมีสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ เป็ด วัว ควาย ม้า ถัดบ้านก็เป็นสวนผลไม้ซึ่งรวมถึงพืชผักที่ใช้ประกอบอาหารด้วย ชาวล้านนามีลักษณะเหมือนคนไทยทั่วไป แต่เป็นเชื้อสายไทยยวน หรือโยนก คนล้านนาเองเรียกคนกลุ่มเดียวกันว่า“คนเมือง” ลักษณะเด่นกว่าคนไทยกลุ่มอื่นคือ ผิวค่อนข้างขาว รูปร่างสันทัดไม่สูง ไม่เตี้ยเกินไป ส่วนใหญ่รูปร่างผอมบาง มีภาษาที่เป็นภาษาถิ่นของตัวเอง หรือที่เข้าใจกันว่า “คำเมือง” ภาษาไทยเหนือมีระบบตัวอักษรบันทึกที่เรียกว่า “อักษรล้านนา” บันทึกเรื่องราวทางพุทธศาสนา คัมภีร์ต่าง ๆ ตลอดจนกฎหมายและความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน อักษรล้านนานี้ดัดแปลงมาจากอักษรมอญเดิม มีอายุรุ่นเดียวกับอักษรพ่อขุนรามคำแหง หรืออาจเก่ากว่านั้นอีก
นาฬิกาวิถีชีวิตของชาวล้านนาในอดีต
05.30 น. : ตื่นเช้า ทำอาหาร (เป็นหน้าที่ของแม่บ้าน ของผู้หญิงเป็นหลัก) ตีข้าว (ผู้ชาย)
06.30 น. : ทำงานที่บ้าน ให้อาหารไก่ (ผู้ชาย)
07.00 น. : เอาวัวควายออกเเหล่งไปกินหญ้า
08.00 น. : กินข้าวเช้า
09.00 น. : ทำงานบ้าน ซักผ้า ตากผ้า (ผู้หญิง) ให้ข้าวหมู (ผู้ชาย)
10.00 – 12.00 น. : เด็กๆ เล่นกัน
– ผู้ใหญ่ทำการเกษตร ปลูกผัก ปลูกข้าว
12.00 น. : กินข้าวกลางวัน
13.00 – 17.00 น. : ทำเกษตร ปลูกผัก ปลูกข้าว
– ผู้ชายตำข้าว ผู้หญิงฝัดข้าว
– เด็กๆ เล่นกัน
17.00 น. : เอาวัวควายกลับเข้าเเหล่ง
17.00 น. : ทำอาหาร (เป็นหน้าที่ของเเม่บ้าน ของผู้หญิงเป็นหลัก)
18.00 น. : กินข้าวเย็น
19.00 – 20.00 น. ทำงานก่อนเข้านอน ปั่นฝ้าย (ผู้หญิง) จักสาน (ผู้ชาย)
20.00 น. : สวดมนต์ก่อนเข้านอน