อาหารประจําภาคเหนือ 10 อย่าง
วันนี้เราจะมาแนะนำอาหารอร่อยภาคเหนือกัน รับรองว่าอร่อยถูกใจกันแน่นอน มีทั้งของคาวและของหวาน จะมีอะไรกันบ้างไปดูกันเลยจ้า
1.กระบอง (Krabong)
กระบองฟักทองทอด รสเผ็ดอุดมด้วยวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา
กระบอง เป็นอาหารว่าง หรือของกินเล่นชนิดหนึ่ง นิยมใช้ฟักทองในการปรุง “กระบองทอด” เป็นอาหารกินเล่นของชาวเหนือ ทำจากผักจำพวกฟักทอง น้ำเต้า หัวมัน นำมาชุบแป้งผสมพริกแกงเผ็ดแล้วนำไปทอด ซึ่งครั้งนี้เราเลือกฟักทองเนื้อหนาที่อุดมด้วยวิตามินเอ มาปรุงทำให้ได้กระบองฟักทองทอดรสหวานมันจากธรรมชาติ กรอบนอกนุ่มใน เผ็ดนิด มาเป็นออร์เดิร์ฟเรียกน้ำย่อย ที่พ่วงประโยชน์จากวิตามินเอ (วิตามินนี้ละลายได้ดีในไขมัน) ที่ช่วยบำรุงสายตากันอีกด้วย
2.ข้าวหลาม (Khao Lam)
ข้าวหลาม เป็นขนมชนิดหนึ่งนิยมทำรับประทานกันในฤดูหนาว หรือเมื่อได้ข้าวใหม่ ใช้ไผ่ข้าวหลาม หรือไม้ป้างเป็นกระบอกใส่ข้าวหลาม ข้าวหลามแบบชาวบ้าน ใช้ข้าวสารเหนียวกับน้ำเปล่า และเกลือเท่านั้น สำหรับข้าวหลามที่ทำขายกันโดยทั่วไป จะใส่น้ำกะทิ และเติมถั่วดำ หรืองาขี้ม้อน การทำข้าวหลามตามประเพณีนิยมของชาวล้านนาจะเพื่อถวายพระในวันเพ็ญเดือนสี่ หรือประมาณเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการทานร่วมกับการทานข้าวจี่ และข้าวล้นบาตร เดิมทีจะใช้กระบอกไม้ไผ่ในการหุงข้าวด้วย ข้าวที่ได้จะมีลักษณะเป็นทรงกระบอก เชื่อมกันด้วยเยื่อไผ่ทำให้เป็นรูปทรงสวยงาม แต่ในปัจจุบันนี้ นิยมนำมารับประทานเป็นขนมหวาน โดยมีส่วนผสมคือ ข้าวเหนียว,กะทิ และบางตำราจะมีการใส่ถั่วดำด้วย
3.ข้าวซอยไก่ (Khao Soi Kai)
ข้าวซอย คืออาหารพื้นเมืองทางภาคเหนือของประเทศไทย เดิมเรียกว่า “ก๋วยเตี๋ยวฮ่อ” เป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวจีนยูนนานหรือฮ่อ มีลักษณะคล้ายเส้นบะหมี่ ในน้ำซุปที่ใส่เครื่องแกง รสจัดจ้าน มีเครื่องเคียง ได้แก่ ผักกาดดอง หอมหัวแดง ยำกะหล่ำปลีและมีเครื่องปรุงรส เช่น พริกผัดน้ำมัน น้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาล ในตำรับดั้งเดิมเนื้อที่ใช้เป็นเนื้อไก่หรือเนื้อวัว แต่ในปัจจุบันร้านอาหารหลายแห่งได้มีการใช้เนื้อหมูแทน บางแห่งอาจเพิ่มอาหารทะเลหรือเต้าหู้เป็นส่วนประกอบ
4.ไส้อั่ว (Northern Thai Sausage)
ไส้อั่ว เป็นอาหารพื้นเมืองทางภาคเหนือของประเทศไทย อั่ว หมายถึง ใส่ไส้, แทรก, ยัดไว้ตรงกลาง ปกติทำจากเนื้อหมูบด (สามารถผสมกับมันแข็งของหมู เพื่อไม่ให้เนื้อหมูด้านเวลาสุก) ผสมพริกแห้ง กระเทียม ขมิ้น (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้) ข่า ใบมะกรูด หอมแดง และเครื่องปรุงรส แล้วกรอกลงไปในไส้อ่อนของหมูที่เกลาจนบางแล้ว บิดหัวท้ายเพื่อแบ่งให้เป็นท่อนขนาดพอประมาณ จากนั้นนำไปย่างให้สุกเกรียม มีกลิ่นหอมชวนรับประทาน บางแห่งเปลี่ยนจากหมูเป็นหน่อไม้ซอยละเอียด สำหรับมุสลิมหรือผู้ที่ไม่ประสงค์ที่จะรับประทานหมูอาจจะดัดแปลงใช้เนื้อสัตว์ชนิดอื่น แล้วก็กรอกเข้าไปในไส้สัตว์ชนิดอื่นหรือไส้เทียมแทน
5.ขนมจีนน้ำเงี้ยว
(Rice Vermicelli with Northern Thai Curry Sauce)
น้ำเงี้ยว หรือ น้ำงิ้ว เป็นอาหารภาคเหนือของประเทศไทยเป็นน้ำแกงที่รับประทานกับขนมจีนหรือเส้นก๋วยเตี๋ยว ถ้าเป็นก๋วยเตี๋ยว เรียกก๋วยเตี๋ยวน้ำเงี้ยว บางสูตรใช้ถั่วเน่าแข็บย่างไฟ โขลกลงในเครื่องแกง บางสูตรใส่เต้าเจี้ยว ชาวไทใหญ่ เรียกอาหารชนิดนี้ว่า “เข้าเส้นน้ำหมากเขือส้ม” มีส่วนประกอบหลักคือดอกงิ้ว เลือดหมู และหมูสับ ดัดแปลงมาจากน้ำพริกอ่อง พริกแกงจะคล้ายพริกแกงส้มของทางภาคกลางแต่ไม่ใส่กระชาย น้ำเงี้ยวเป็นอาหารมงคลของภาคเหนือ นิยมทำในงานบุญต่างๆ มักจะใช้รับประทานกับขนมจีนหรือเส้นก๋วยเตี๋ยว มีเครื่องเคียง คือ ผักกาดดอง แคบหมู หนังปอง กะหล่ำปลีซอย ถั่วงอกดิบ พริกทอด ราดกระเทียมเจียว โรยหน้าด้วย ต้นหอมและผักชีซอย มีเครื่องปรุง คือ พริกผัดน้ำมัน มะนาว กินคู่กับข้าวกั้นจิ้นหรือข้าวเงี้ยว น้ำเงี้ยวแต่ละที่ก็จะมีลักษณะไม่เหมือนกันแตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น น้ำเงี้ยวเป็นอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงราย
6.แกงฮังเล (Thai Northern Style Pork Curry)
แกงฮังเล หรือ แกงฮินเล เป็นอาหารไทยประเภทแกงรสชาติเค็ม-เปรี้ยว แกงฮังเลมีต้นกำเนิดจากประเทศพม่า โดยคำว่า ฮี่น (ဟင်း) ในภาษาพม่าแปลว่า แกง และ เล่ (လေး) ในภาษาพม่าแปลว่า เนื้อสัตว์ แกงฮังเลได้รับความนิยมจากชาวไทยภาคเหนือและแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน วิธีปรุงแกงฮังเลมีสองแบบคือแบบพม่าและแบบเชียงแสน โดยแบบพม่าได้รับความนิยมมากกว่า แกงฮังเลพม่ารสชาติออกเปรี้ยวเค็ม น้ำขลุกขลิก ใส่ขิง น้ำมะขามเปียก กระเทียมดอง ถั่วลิสง น้ำตาลอ้อย ส่วนแกงฮังเลเชียงแสนเพิ่มถั่วฝักยาว พริก หน่อไม้ดอง งาคั่ว ส่วนประกอบสำคัญจะต้องมีผงแกงฮังเลหรือผงมัสล่าซึ่งเป็นผงเครื่องเทศแบบผสมแบบเดียวกับการัม มาซาลาของอินเดีย น้ำพริกแกงประกอบด้วยพริกแห้ง เกลือ ข่าแก่ ตะไคร้ กระเทียม หอมแดง แกงฮังเลแบบไทใหญ่ น้ำขลุกขลิกและกินกับมะม่วงสะนาบซึ่งเป็นมะม่วงสับ ยำกับกะปิคั่ว กุ้งแห้งป่น และกระเทียมเจียว
7.น้ำพริกหนุ่มกับแคบหมู (Northern Thai Green Chilli Dip)
น้ำพริกหนุ่ม คือน้ำพริก อาหารพื้นบ้านล้านนาที่รู้จักกันทั่วไป ทำจากพริกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าพริกหนุ่มอาจจะใช้พริกหนุ่มที่แก่จัดหรือยังไม่แก่จัดก็ได้แต่ส่วนมากใช้พริกหนุ่มที่ยังไม่แก่จัด หอม และกระเทียม นำมาย่างและโขลกส่วนผสมและเกลือ รับประทานกับแคบหมู ผัก ข้าวเหนียว บางสูตรใส่ปลาร้าสับ และกะปิห่อใบตองย่างไฟ บางสูตรใส่น้ำปลากับเกลือ
8.ลาบดิบ (Raw beef salad)
ลาบที่ปรุงเสร็จโดยไม่สุก เรียก ลาบดิบ หรือ ลาบเลือด ซึ่งจะคล้ายคลึงกับหลู้ โดยการทำลาบนั้นนิยมใช้เลือดสด ๆ ของหมู วัว หรือควาย เทผสมกับเนื้อสับละเอียดในระหว่างขั้นตอนการสับเนื้อ ซึ่งลาบเลือดหรือลาบดิบนี้จะแตกต่างจากหลู้ที่เมื่อทำเสร็จ ซึ่งลาบนั้นเลือดจะผสมอยู่กับเนื้อลาบ แต่หลู้เป็นการนำเอาเลือดไปคั้นกับสมุนไพรเพื่อดับกลิ่น แล้วนำเนื้อสับลงไปคลุกเคล้ากับเลือดที่คั้นแล้ว ส่วนลาบที่ปรุงสุกแล้วเรียกลาบคั่ว เกิดจากการนำเอาลาบเลือดดิบนี้ลงคั่ว เติมน้ำปลาและน้ำเปล่าเล็กน้อยเพื่อให้รสชาติกลมกล่อม แต่อย่างไรก็ดี ลาบคั่วรสชาติจะอ่อนกว่าลาบดิบ
9.หมูยอ
(Boiled pork sausage with white complexion and rubbery texture)
หมูยอ ของทานเล่นเหมาะสำหรับเป็นเครื่องเคียงเมนูหลัก สามารถนำไปจิ้มกินกับน้ำพริกหนุ่มได้ หรือ นำไปทอด เนื้อสัมพัสนุ่มอาจปรุงแต่งด้วยเกลือเล็กน้อยเพื่อให้ได้รสชาติอร่อยมากยิ่งขึ้น
10.แกงโฮะ
“โฮะ” ในภาษาเหนือแปลว่ารวม ดังนั้น จานนี้คือการนำอาหารเหลือหลาย ๆ อย่างมารวมกัน น้ำแกงที่เหลือ (ปกติมักเป็นแกงฮังเล) นำมาผัดกับวุ้นเส้น ใบมะกรูด หน่อไม้ดอง ตะไคร้ และเนื้อหมู ดูแห้ง ๆ แต่รสแรง ในปัจจุบัน แกงโฮะอาจจะไม่ได้ทำจากของเหลืออีกต่อไป แต่ใช้ของสดใหม่เพื่อคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่สูญหาย
สามารถอาหารเหนืออร่อยๆแบบนี้ได้ในร้าน ”โตกตอง” ร้านอาหารสไตล์เมืองเหนือแบบต้นตำหรับแท้ร้อยเปอร์เซน มาให้คุณได้ชิมกันแล้ว
ครัวโตกตอง
ร้านอาหารเหนือสไตล์ล้านนาอาหารเหนือรสชาติดีเยี่ยม ดื่มด่ำบรรยากาศทางเหนือ มีแบบขันโตกด้วย ไปช่วงมึดๆอากาศค่อนข้างเย็น มีดนตรีเล่นให้ฟัง เป็นอีกหนึ่งร้านอาหารที่ควรลองแวะ อาหารอร่อย มีโซนในบ้านเรือนใน และโซนด้านนอกนั่งเบาะพิงทานข้าว มีนางรำมาแสดงให้ชม
Location : https://g.page/toketongcri?share
ร้านเปิดให้บริการทุกวัน 16:00-23:00 น.
โทร 0882602069