บ้านดำอาจารย์ ถวัลย์ ดัชนี
บ้านดำหรือพิพิธภัณฑ์บ้านดำ หนึ่งในผลงานศิลปินแห่งชาติอย่างอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ที่มีฝีมือทั้งทางด้านจิตรกรรม ปฏิมากรรม และผลงานศิลปะอีกมามาย สำหรับพิพิธภัณฑ์บ้านดำมีงานศิลปะเกี่ยวกับบ้านไม้ มีรูปแบบตามล้านนา บ้านปูนรูปทรงแปลกตา และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดก็คือบ้านเกือบทุกหลังเป็น ‘สีดำ’ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ‘บ้านดำ’
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
นายถวัลย์ ดัชนี เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2482 ที่จังหวัดเชียงราย เป็นบุตรของนายศรี และนางบัวคำ (พรหมสา) ดัชนี เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน ได้แก่ พ.ต.สว่าง ดัชนี นายสมจิตต์ ดัชนี และนายวสันต์ ดัชนี สมรสกับนางคำเอ้ย มีบุตรชาย 1 คน คือ นายดอยธิเบศร์ ดัชนี ปัจจุบันเสียชีตลงด้วยอายุ 74 ปีในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2557 ที่โรงพยาบาลรามคำแหง กรุงเทพมหานคร
ประวัติการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
นับแต่เรียนสำเร็จชั้นมัธยมที่จังหวัดเชียงราย ถวัลย์ได้เข้าเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างด้วยทุนการศึกษาของจังหวัดเชียงรายและเป็นนักเรียนเพาะช่าง ดีเด่นด้วยฝีมือการวาดรูปเหมือนจริงที่แม่นยำฉับไว ภาพวัดเบญจมบพิตรได้รับเลือกให้แสดงในหอศิลปแห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นและแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแห่งชาติ ประเทศไทย
เมื่อจบจากโรงเรียนเพาะช่างในปี พ.ศ. 2500 ถวัลย์ได้เดินตามแนวทางของดำรง วงศ์อุปราช จิตรกรรุ่นพี่ นักเรียนทุนจากลำปาง ซึ่งเป็นผู้จุดประกายให้เขาสอบเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ปฏิมากรรมมหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การอำนวยการสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และสถาบันแห่งนี้ได้หล่อหลอมให้ถวัลย์พัฒนางานจากภาพวาดเหมือนจริงไปเป็นภาพวาดที่ให้ความรู้สึกประทับใจ (Impressionism) แบบไทย แล้วยังเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างถวัลย์ ดัชนี กับ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตและวิธีคิดที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเขาเป็นอย่างยิ่ง
ถวัลย์ ดัชนี จัดเป็นบัณฑิตคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนของมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้นที่สามารถเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าถ้าไม่มีความรู้ความสามารถโดดเด่นแท้จริงแล้วจะได้เพียงอนุปริญญา และหลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ด้วยการสนับสนุนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีในเวลานั้น ถวัลย์ได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมและการศึกษา ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเป็นเวลา ๕ ปี ที่ราชวิทยาลัยศิลปแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
ระหว่างที่ศึกษาศิลปะที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผลงานการสร้างสรรค์ของถวัลย์โดดเด่นเป็นที่นิยมชมชอบของวงการศิลปะสากลอย่างกว้างขวาง จึงได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมสัมมนาทางศิลปะระดับนานาชาติอยู่เสมอ ทั้งจากสถาบันการศึกษา สถาบันทางศิลปะให้จัดแสดงผลงานที่เรียกว่า One Man Show และแสดงกลุ่มมากมายหลายครั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศนับตั้งแต่เข้ามามีบทบาทในวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย เมื่อเข้าไปจะได้พบกับ ‘วิหารเล็ก’ ไม้บนฐานบัว ตัวพื้นทำมาจากหินแกรนิต มีพุทธรูปไม้แกะสลักด้านใน ซุ้มประตูเป็นงานศิลปะรัตนบุระอังวะ
รางวัลที่เคยได้รับ
พ.ศ. 2503 รางวัลที่ ๒ การประกวดศิลปกรรม ณ วังสวนผักกาด
พ.ศ. 2505 รางวัลที่ ๑ การประกวดศิลปกรรม จัดโดย องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเทพ
พ.ศ. 2528 ได้รับรางวัลเกียรติยศเหรียญทองจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในฐานะจิตรกรผู้สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย
พ.ศ. 2540 ได้รับเลือกจากองค์การสหประชาชาติ ให้เป็นผู้แทนวัฒนธรรมทางศิลปะภาคตะวันออกไปแสดงผลงานที่นิวยอร์ก ปารีส โรม ลิสบอน แคนเบอร่า และโตเกียว ตามลำดับ
พ.ศ. 2544 ได้รับคัดเลือกจาก FUKUOKA ASIAN CULTURE PRIZE COMMITTEE ให้รับรางวัล Arts and Culture Prize
ฉายา
ถวัลย์ ดัชนี ได้รับฉายาว่า “จักรพรรดิแห่งผืนผ้าใบ” และ ยังได้ฉายาร่วมกับ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินรุ่นน้องที่เป็นชาวเชียงรายเช่นเดียวกันว่า “เฉลิมชัย-สวรรค์ ถวัลย์-นรก” เนื่องจากผลงานของเฉลิมชัยมักมุ่งเน้นไปที่ภาพสวรรค์ หรือภพภูมิแห่งนิพพาน แต่ขณะของถวัลย์กลับให้อารมณ์ตรงกันข้าม เพราะมุ่งเน้นไปที่ความน่าสะพรึงกลัว หรือภาพของบาปหรือกิเลสในตัวตนมนุษย์
วาระสุดท้ายแห่งชีวิต
ถวัลย์ ดัชนี เริ่มป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 โดยเข้ารับการรักษาอาการป่วย ณ โรงพยาบาลรามคำแหง นานกว่า 3 เดือน จนเมื่อเวลา 02.15 น. ของวันที่ 3 กันยายน ปีเดียวกัน นายถวัลย์ ดัชนี ได้ถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ จากอาการตับวาย ซึ่งผู้เป็นลูกชาย คือ นายดอยธิเบศร์ ดัชนี ได้เขียนข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวว่าผู้เป็นพ่อได้เสียชีวิตลงแล้ว ยังความเสียใจมาแก่เพื่อนร่วมงาน บุคคลต่าง ๆ ที่ชื่นชมผลงานของถวัลย์เป็นอย่างมาก ดร.ถวัลย์ ดัชนี มีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน และความดัน เมื่อประมาณปี 2555 ได้เข้ารับการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตซึ่งมีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง ต่อมาเมื่อต้นปี 2557 ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้าย และในช่วงปลายเดือนมิถุนายนจึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างจริงจัง จนกระทั่งพบว่าเชื้อมะเร็งลุกลามไปที่ตับและปอด มีอาการไตวาย จากนั้นอาการทรุดหนักจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ในการนี้ กำหนดมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน 2557 เวลา 13.00 น. ณ ศาลา 1 วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร โดยท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ในฐานะผู้แทนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานในพิธี จากนั้นกำหนดจัดพิธีสวดพระอภิธรรมศพ ในระหว่างวันที่ 4 – 10 กันยายน เวลา 19.00 น. และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน 2557 เวลา 17.00 น. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ นายถวัลย์ ดัชนี ณ ศาลา 1 (เตชะอิทธิพร) วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 15.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ ดร. ถวัลย์ ดัชนี ณ เมรุด้านใต้ วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2557 เวลา 17.00 น